แนะนำศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา

ที่มา : เพจ มช.ทูเดย์

ประวัติความเป็นมา

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ เดือนมิถุนายน 2538 เป็นคณะที่ 17 ของมหาวิทยาลัยและเป็นคณะในกำกับของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2543 โดนมีบัณฑิตจบการศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2542 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทางคณะฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมล้านนา และการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมมาโดยตลอด โดยมีหลักสูตรที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม และการประยุกต์งานสถาปัตยกรรมล้านนา ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อให้นักศึกษาได้เข้าใจและมีพื้นฐานทางด้านสถาปัตยกรรม โดยสามารถนำความรู้ดังกล่าวไปปรับใช้กับการออกแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัยได้ อย่างเหมาะสม จากเหตุผลดังกล่าว คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จึงได้มีโครงการจัดตั้งศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนาขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวม จัดเก็บจัดแสดงและศึกษาค้นคว้าข้อมูลด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมล้านนา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นศูนย์กลางสำหรับการเผยแพร่ความรู้แก่นักศึกษา นักวิจัย และผู้สนใจที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาค
ปัจจุบัน ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) เป็นหน่วยงานภายใต้งานศิลปวัฒนธรรมและชุมชน คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำหน้าที่ในการวิจัย จัดเก็บ และเผยแพร่ความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมล้านนา และศิลปวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่อง มีที่ทำการ ณ อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) ซึ่งเป็นอาคารเก่าอายุประมาณ 130-140 ปี ซึ่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับบริจาคจากคุณเรียงพันธุ์ ทิพยมณฑล และอาจารย์จุลทัศน์ กิติบุตร เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2544
อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ หรือบางท่านเรียกว่า คุ้มกลางเวียง เดิมเป็นของ เจ้าบุรีรัตน์ (น้อย มหาอินทร์) หลานของเจ้าหลวงคำฝั้น (เจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่3) สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2432-2436 ต่อมาเจ้าน้อยชมชื่น ณ เชียงใหม่ บุตรชายเจ้าบุรีรัตน์ (น้อย มหาอินทร์) ได้รับมรดกและเป็นผู้ครอบครองอาคารในระหว่างปี พ.ศ. 2437-2489
นางบัวผัน นิกรพันธ์ (ทิพยมณฑล) ได้ซื้อต่อจากเจ้าบุษบา ณ เชียงใหม่ (ภริยาเจ้าน้อยชมชื่น ณ เชียงใหม่) และเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงญาติคนปัจจุบันคือคุณเรียงพันธุ์ ทิพยมณฑล (บุตรีนางบัวผันและเป็นน้าสาว ของอาจารย์จุลทัศน์ กิติบุตร) วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2544 ตระกูลกิติบุตรและทิพยมณฑล ได้มอบอาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ มหาอินทร์ ให้กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ใช้เป็นที่ทำการของศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา ภายใต้การดูแล และดำเนินงานของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รูปแบบการใช้งานในแต่ละยุคสมัย

  • ยุคเจ้าบุรีรัตน์ มหาอินทร์ (พ.ศ. 2416 – 2436)
  • คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ มหาอินทร์ สันนิษฐานว่าสร้างในช่วงปีใดปีหนึ่งระหว่าง พ.ศ. 2416 – ก่อนปี พ.ศ. 2425 โดยในช่วงแรกใช้เป็นอาคารบ้านพักอาศัยของเจ้าน้อยมหาอินทร์ ซึ่งตำแหน่งเจ้าบุรีรัตน์มีลำดับความสำคัญ เป็นลำดับที่ 3 ในกลุ่มเจ้าขันธ์ห้าใบ แต่เดิมใช้ชื่อตำแหน่งว่า เจ้าหอเมืองแก้ว และในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงเปลี่ยนชื่อตำแหน่งเป็น เจ้าบุรีรัตน์ ในปี พ.ศ. 2399 ตำแหน่งเจ้าบุรีรัตน์มีหน้าที่ในการช่วยเจ้าหลวงเชียงใหม่บริหารบ้านเมืองคล้ายกับตำแหน่งของตำรวจในปัจจุบัน มีหลักฐานว่า อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ มหาอินทร์ เคยใช้เป็นคุกในการกักขังนักโทษที่ได้ย้ายมาจากคุ้มเจ้าบุญทวงศ์ ที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2425 ในช่วงเวลาเดียวกันเจ้าบุรีรัตน์ มหาอินทร์ ได้เป็นแม่ทัพไปทำศึกกับเจ้าฟ้าโกหล่าน เมืองหมอกใหม่ แคว้นฉาน จนได้รับชัยชนะและเป็นแม่ทัพในการปราบกบฏพญาผาบ ทำให้ปี พ.ศ. 2432 ในปัจจุบันเป็นพื้นที่ที่คาดว่าเคยเป็นคอกในคุ้มมาก่อนคือ บริเวณชั้นล่างของอาคารคุ้มเจ้า ซึ่งปัจจุบันเป็นห้องสำหรับจัดนิทรรศการทางประวัติศาสตร์
  • ยุคเจ้าน้อยชมชื่น ณ เชียงใหม่ (พ.ศ. 2436 – 2460)
  • หลังจากเจ้าบุรีรัตน์ มหาอินทร์ได้เสียชีวิตลงในปี พ.ศ. 2436 เจ้าน้อยชมชื่น ณ เชียงใหม่ บุตรชาย ได้เป็นผู้รับกรรมสิทธิ์การครอบครองคุ้มเจ้าต่อมาและได้อยู่อาศัยร่วมกับ เจ้าบุษบา ณ เชียงใหม่ และบุตรชาย 2 คน คือ เจ้าเผ่าพันธุ์ และเจ้าพงษ์เจริญ ต่อมาเมื่อเจ้าน้อยชมชื่อได้เสียชีวิตลงกรรมสิทธิ์ของคุ้มหลังนี้ตกไปอยู่กับเจ้าบุษบา ที่ใช้ในการพักอาศัยอยู่กับบุตรชาย โดยได้เปิดเป็นบ่อนกาสิโน ในบริเวณชั้นล่างของอาคารที่ในอดีตเคยเป็นคุกขังนักโทษก่อนย้ายไปที่คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (หน่อเมือง) ทั้งนี้ในสมัยนั้นเจ้านายทางฝ่ายเหนือมีการเล่นพนันและเปิดบ่อนกันเป็นเรื่องทั่วไปยังไม่ผิดกฎหมายโดยส่วนใหญ่ทำให้เจ้าส่วนใหญ่เริ่มมีหนี้สินที่เกิดจากการพนัน จึงมีการนำเอาทรัพย์สินไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดเพื่อนำไปใช้ เป็นจำนวนมาก ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงภาวะเศรษฐกิจผันแปร ทำให้กิจกรรมต่างๆ ของเจ้าเสื่อมโทรม ทำให้คุ้มเจ้าต่างๆ ถูกขายให้กับคหบดีในจังหวัดเชียงใหม่ คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) ก็เป็นหนึ่งในคุ้มเจ้าเหล่านั้น โดยถูกขายให้กับต้นตระกูลทิพยมณฑล มีหลักฐานการซื้อขายให้กับ นางบัวผัน ทิพยมณฑล ในราคา 5,000 บาท ในปี พ.ศ. 2460 โดยเจ้าบุษบาและบุตรชายได้ย้ายไปอยู่บ้าน บริเวณด้านข้างกับศาลาธนารักษ์ในปัจจุบัน
  • ยุคตระกูลทิพยมณฑลและกิติบุตร (พ.ศ. 2460 – 2544)
  • เมื่อนางบัวผัน ทิพยมณฑล ได้ซื้อคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ต่อมาจากเจ้าบุษบา ในปี พ.ศ. 2460 ได้อยู่อาศัยพร้อมกับบิดา คือ พระนายกคณานุการ (เมือง ทิพยมณฑล) โดยก่อนหน้านี้นางบัวผัน ได้อาศัยอยู่กับนายซุ่มเฮง ผู้เป็นสามี เมื่อนายซุ่มเฮงเสียชีวิตจึงได้ย้ายมาอยู่กับบิดา ก่อนที่จะย้ายมายังคุ้มเจ้าแห่งนี้ นางบัวผันและพระนายกคณานุการได้ย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในคุ้มเจ้าแห่งนี้ ในปี พ.ศ. 2470 ไม่ได้มีการย้ายเข้ามาทันทีหลังจากการซื้อต่อมา โดยในขณะนั้นภายในคุ้มเจ้าประกอบไปด้วย นางบัวผัน พระนายกคณานุการ และนางสาวเรียงพันธุ์ (บุตรสาว) ครอบครัวนายสีมา (น้องชาย) ซึ่งประกอบไปด้วยภรรยา คือ นาง บุญปั๋นและบุตรธิดาทั้งหมด 7 คน ได้แก่ นางประภา ทิพยมณฑล, นายบรรจง ทิพยมณฑล, พ.ต.ท.ธงชัย ทิพยมณฑล, นายอุดม ทิพยมณฑล, นายสมจิต ทิพยมณฑล, นางพิสมัย คำวงษ์ปิน และนางวิไลวรรณ วงศ์โกมลเชษฐ์ โดยที่นางบัวผัน พระนายกคณานุการ และนางสาวเรียงพันธุ์ จะพักอยู่ชั้นบน ส่วนครอบครัว ของนายสีมาจะอาศัยอยู่บริเวณชั้นล่างซึ่งมีทั้งหมด 3 ห้อง ที่คาดว่าเคยเป็นคุกเก่าในสมัยเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) แต่ได้มีการปรับปรุงด้วยการทำเป็นพื้นคอนกรีตเพื่อให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัย ทำให้คุ้มกลางเวียงในขณะนั้นคาดว่ามีผู้อยู่อาศัยทั้งสิ้น 12 คน ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มคนชุดแรกของตระกูลทิพยมณฑลที่อยู่อาศัยในช่วงเวลานั้น
  • ยุคคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ปี พ.ศ. 2544 – ปัจจุบัน)
  • ก่อนที่จะมีการส่งมอบอาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) ให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นางสาวเรียงพันธุ์ ทิพยมณฑล ได้ไปสร้างบ้านพักอาศัยไว้บริเวณหลังโรงพยาบาลลานนาซึ่งเป็นที่ดินของตระกูลทิพยมณฑลเดิม และเมื่อบ้านหลังดังกล่าวสร้างเสร็จและจึงส่งมอบอาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) ให้อยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อใช้ในการเป็นอนุสรณ์ให้แก่บรรพบุรุษตระกูลทิพยมณฑลและกิติบุตร ในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2544 หลังจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับมอบอาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ มหาอินทร์แล้วนั้น ได้ให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นผู้ดูแลและจัดตั้งเป็นศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน ในเรื่องของงานสถาปัตยกรรมแบบล้านนา รวมไปถึงเพื่อให้เป็นสถานที่ในการทำกิจกรรมของเมืองเชียงใหม่ในเรื่องของวัฒนธรรม โดยในปัจจุบันคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้รับอาคารมาดูแลตั้งแต่ที่มีการรับมอบ โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้มีการปรับปรุง ดูแลและยังคงอนุรักษ์อาคารเพื่อให้อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) ยังคงเป็นสถานที่เล่าเรื่องเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ผ่านสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานรูปแบบตะวันตก และรูปแบบล้านนาได้อย่างลงตัว
    Flag Counter