ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่เว็ปไซต์ถูกเก็บในรูปแบบของคุกกี้ กรุณา
รับทราบ
และอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
Support@mail.com
+01 1800 453 7678
Login
Sign Up
Toggle navigation
หน้าหลัก
ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา
ประวัติความเป็นมา
วัตถุประสงค์และเป้าหมาย
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ของคุ้มเจ้าบุรีรัตน์มหาอินทร์
งานบูรณะอาคารและบริเวณโดยรอบ
พิพิธภัณฑ์เสมือน
รางวัลที่ได้รับ
กรรมการและบุคลากร
ข้อมูลการขุดค้นทางโบราณคดี
คลังข้อมูลแห่งสถาปัตยกรรมล้านนา
ข้อมูลสถาปัตยกรรมล้านนา
งานวิจัยและการจัดการองค์ความรู้
หนังสือ
นิทรรศภายในศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา
ฐานข้อมูลสล่าสร้างสถาปัตยกรรม (วัดและเรือนล้านนา)
ติดต่อเรา
วารสารออนไลน์ คุ้มมิวเซียม
ฉบับที่ 1
ฉบับที่ 2
ฉบับที่ 3
ฉบับที่ 4
TH
|
EN
รูปแบบสถาปัตยกรรม
อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์)
เป็นตัวอย่างของงานสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างลักษณะพื้นถิ่นและอิทธิพลตะวันตกอย่างลงตัว เป็นอาคารสองชั้น หลังคาทรงมะนิลา มีระเบียงโดยรอบ เป็นแบบอย่างสถาปัตยกรรมอิทธิพลตะวันตกที่สร้างในเมืองเชียงใหม่ยุคแรก อีกทั้งยังแสดงออกถึงอิทธิพลของการก่ออิฐ การแปรรูปไม้
เทคนิคการเข้าไม้ที่เข้ามาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจและสังคมของเมืองเชียงใหม่ช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ตัวอาคารเป็นเรือนครึ่งปูนครึ่งไม้สองชั้น บันไดอยู่ด้านนอก ชั้นล่างก่ออิฐหนาเป็นรูปโค้ง (Arch) ฉาบปูนเป็นระเบียงโดยรอบ ชั้นบนเป็นพื้นไม้สักมีระเบียงโดยรอบ หลังคาจั่วและหลังคาปั้นหยามุงด้วยกระเบื้องดินขอคลุมระเบียงโดยรอบ ปัจจุบันตัวอาคารยังอยู่ในสภาพดี แสดงถึงวิทยาการการก่อสร้างที่แข็งแรงคงทนในอดีต อย่างไรก็ตามทางคณะฯ เห็นว่าต้องมีการซ่อมแซมเพื่อให้อาคารมีความคงทนถาวรและพร้อมที่จะใช้งานต่อไป
โดยในขณะนี้คณะฯ ได้เริ่มจัดทำแผนการอนุรักษ์แบบการสงวนรักษา (Preservation)
แบบแปลนอาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) แบบ Vernadoc
แปลนห้องนิทรรศการ ชั้น 1
แปลนห้องนิทรรศการ ชั้น 2
แปลนพื้นที่โดยรอบศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์)
แผนผังศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา
คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) ตั้งอยู่บนพื้นที่ 1 ไร่ 3 งาน 84 ตารางวา ภายในก่ออิฐหนาสูงประมาณ 1.80 เมตร โดยรอบทั้งสี่ด้าน อาคารสองชั้นมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ประสมประสานระหว่างสถาปัตยกรรมตะวันออกและล้านนา แปลนเป็นลักษณะศอกคู้ (รูปตัวL) ชั้นล่างมี 3 ห้อง ชั้นบนมี 3 ห้อง บันไดอยู่นอกอาคารทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ในส่วนชั้นล่างเป็นรูปแบบผสมของเรือนมะนิลากับสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล ซึ่งแพร่หลายในประเทศอาณานิคม ชั้นบนเป็นเรือนเครื่องไม้แบบเชียงใหม่ที่ได้นำเทคนิควิธีเครื่องบนไม้และวัสดุพื้นเมือง (ดินขอ) มาใช้อย่างเหมาะเจาะลงตัว หลังคาจั่วและหลังคาปั้นหยาคลุมระเบียงโดยรอบ โครงสร้างเป็นแบบอย่างของสถาปัตยกรรมมหาอำนาจอังกฤษในเชียงใหม่ในยุคแรก แสดงถึงอิทธิพลทางการก่อสร้าง การก่ออิฐ การแปรรูปไม้ เทคนิคการเข้าไม้ โครงสร้างที่ใช้ช่างก่อสร้างได้รับการฝึกฝนจากชาวตะวันตก เข้ามาพร้อมการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจ
โครงสร้างอาคาร
โครงสร้างพื้น
โครงสร้างพื้นชั้นล่างแต่เดิมสันนิษฐานเป็นดินและมีการเรียงพื้นด้วยอิฐ ต่อมามีการทำพื้นปูนซีเมนต์ ส่วนพื้นชั้นบนของอาคารประกอบด้วยโครงสร้างไม้ มีการวางโครงสร้างพื้นแบบเรือนล้านนา วางบนโครงสร้างผนังรับน้ำหนัก พื้นไม้ชั้นบนเป็นไม้สัก วางตีชิดทั้งภายในอาคารและระเบียงรอบมีการวางไม้พื้นสองแนว ลักษณะไม้มีขนาดที่ไม่สม่ำเสมอ บอกถึงฝีมืองานช่างไม้ในสมัยนั้น ที่ยังไม่มีการเข้ามาของเครื่องจักรใหญ่ ยังใช้แรงงานโดยมือ
โครงสร้างเสาและผนังรับน้ำหนัก
โครงสร้างเสาและผนังรับน้ำหนักของอาคารได้รับอิทธิพลการก่อสร้างจากตะวันตกรูปแบบผนังรับน้ำหนักมีลักษณะก่อกำแพงหนา 40 เซนติเมตร ผนังภายนอกส่วนระเบียงทิศเหนือและทิศตะวันตก ตกแต่งด้วยการเจาะช่องโค้ง (Arch) แสดงถึงกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมโคโลเนียล ผนังทิศใต้และทิศตะวันออกมีการตกแต่งทำให้เกิดจังหวะของเสาและกำแพง ขอบบนของผนังภายนอกตกแต่งด้วยบัวปูนปั้นรอบอาคาร
โครงสร้างผนัง
โครงสร้างผนัง ส่วนชั้นสองของอาคาร ประกอบด้วยโครงสร้างไม้ ลักษณะเป็นโครงเคร่าตั้ง เพื่อรับผนังแนวนอนรอบอาคาร และโครงเคร่านอน ในส่วนของประตูและหน้าต่าง ผนังเป็นไม้สัก มีการตกแต่งขอบจากกบไส้ไม้และเข้าไม้ด้วยผนังบังใบ ทำให้ผนังเรียบเสมอหน้าไม้ แสดงให้เห็นถึงการเน้นรายละเอียดของการใช้วัสดุ ยกเว้นส่วนห้องเก็บของทิศใต้ของอาคารและห้องพระด้านทิศเหนือของอาคาร ที่ไม่มีการปิดผนังภายใน
โครงสร้างฝ้าเพดาน
โครงสร้างฝ้าเพดานของอาคาร ชั้นหนึ่งตีไม้ปิดโครงสร้างของพื้นชั้นสอง ตีปิดไม้สักแนวเดียว เช่นเดียวกันชั้นสอง แต่มีลักษณะโค้งขึ้นจากคอสองของผนังภายในอาคาร และห้องภายในทั้งหมด 3 ห้องชั้นสอง
โครงสร้างหลังคา
โครงสร้างหลังคาเป็นรูปแบบมะนิลาคลุมพื้นที่ไปยังระเบียงรอบ ลักษณะโครงสร้างเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก คือการทแยงไม้รับน้ำหนักหลังคา (Truss) เพื่อลดการชนไม้ของโครงสร้าง ทำให้สามารถรับน้ำหนักที่ดีกว่า กระเบื้องที่ใช้แต่เดิมเป็นกระเบื้องดินขอ วัสดุหลังคาท้องถิ่น มีลักษณะเล็กและเบา
ระเบียงรอบ
ระเบียงรอบที่แสดงถึง "สถาปัตยกรรมแบบอาณานิคม" หรือ "Colony Architecture" แสดงถึงการเข้ามาของอิทธิพลตะวันตกในช่วงการค้าไม้ภายในล้านนา ลักษณะเด่นที่เห็นได้ชัดคือ ด้านหน้าของอาคารที่เป็นช่องโค้ง (Arch) ต่อเนื่องกันเป็นระยะๆ เพื่อให้เกิดการเดินเท้า ที่ภาษาไทยเรียกทับศัพท์ว่า "อาเขต" (Arcade) หรือภาษาจีนฮกเกี้ยนเรียกว่า "หง่อคาขี่" หมายถึงทางเดินกว้างห้าฟุต ซุ้มโค้งมีการตกแต่งที่เรียบง่ายในส่วนของเสา ส่วนโค้ง และราวระเบียงไขว้
ลายฉลุ
ลายไม้ฉลุระเบียงรอบอาคาร ฉลุลวดลายกลีบดอก เป็นลวดลายที่เห็นได้ทั่วไปของบ้านเรือนในพื้นถิ่นล้านนาสมัยนั้น นอกจากนี้ยังมีลายฉลุซุ้มโค้งระเบียงชั้นสอง ซึ่งเรียกว่า "ลายดอกประจำยามราชวัตร" ซึ่งเห็นได้จากภายในตัวเรือนรูปแบบการฉลุไม้เป็นลักษณะงานเครื่องมือช่างในสมัยก่อน
ประตูและหน้าต่าง
ประตูลูกฟักบานเปิดคู่ ตกแต่งส่วนบนเป็นบานเกร็ดที่เกิดจากการใช้เครื่องมือช่างในสมัยโบราณ ไสไม้ให้เป็นบานเกร็ด และเข้าไม้ด้วยบังใบ เป็นลักษณะเด่นของประตูที่ได้รับอิทธิพลตะวันตก ส่วนหน้าต่างเป็นบาดเปิดคู่ ภายในกั้นด้วยลูกกรงสายบัวเหล็ก ส่วนประกอบของประตูและหน้าต่าง เช่น ตัวกลอนยาว มือจับ ของเดิมยังหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง ส่วนห้องชั้นสองมีการติดตั้งบานกระจกพลิก (ฝ้าขุ่น) สามารถพลิกได้ 180 องศา ไม่ค่อยพบเห็นทั่วไปในปัจจุบัน ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเข้ามาช่วงใด
บ่อน้ำ
ส่วนประกอบอื่นในพื้นที่คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ยังมีบ่อน้ำสองจุด คือ บริเวณทิศเหนือเดิมเป็นบ่อน้ำทรงกลม เนื่องจากความทรุดโทรม จึงปรับปรุงเป็นสี่เหลี่ยม และส่วนบริเวณทิศใต้ยังคงสภาพเดิม นอกจากนี้ยังมีร่องรอยของกำแพงอิฐก่อขึ้นมา สันนิษฐานว่าเป็น "ต๊อม" คือพื้นที่ใช้อาบน้ำของชาวพื้นเมืองล้านนา สันนิษฐานว่ามีลักษณะเป็นการก่ออิฐสูงขึ้นมาเพื่อบดบังทัศนวิสัย