แผนงานในการบูรณะและปรับปรุงอาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์)

1.งานซ่อมแซมตัวอาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) เป็นการบูรณะซ่อมแซมและคืนสภาพอาคารให้คงรูปแบบดั้งเดิมในลักษณะของการสงวนรักษา (Preservation) พร้อมทั้งปรับปรุงตัวอาคารให้พร้อมใช้งานในลักษณะของอาคารจัดแสดงและจัดเก็บ
2.งานระบบทางวิศวกรรมที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุมถึงระบบวิศวกรรมไฟฟ้าและแสงสว่าง ประปา สุขาภิบาลทั้งตัวอาคารและโดยรอบ
3.งานปรับปรุงภูมิทัศน์ ครอบคลุมถึงงานตกแต่งจัดสวนภายในบริเวณ งานซ่อมแซมรั้วเดิมและปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบให้สามารถรองรับกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นภายนอกอาคารในอนาคต
4.งานปรับปรุงและซ่อมแซมอาคารโดยรอบ (อาคารโรงครัว) ดำเนินการปรับปรุงและซ่อมแซมอาคารโรงครัวที่อยู่ด้านหลัง เพื่อสามารถใช้ประโยชน์ควบคู่กับอาคารหลังใหญ่
การรับบริจาคเพื่อสมทบทุนในการบูรณะอาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) การบูรณะอาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) เพื่อใช้เป็นที่ทำการศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา ต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อดำเนินการ อย่างไรก็ตามจำนวนเงินดังกล่าวยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ คณะฯ จึงขอเชิญชวนมายังท่านหรือหน่วยงานที่เห็นความสำคัญในงานสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของประเทศ ได้ร่วมกันบริจาคเงินทุนสนับสนุนการบูรณะซ่อมแซมอาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) โดยท่านสามารถบริจาคได้โดยตรง ณ หน่วยการเงินและบัญชี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สอบถามหมายเลขบัญชีธนาคารเพื่อร่วมบริจาคไ้ด้ที่เบอร์โทรศัพท์ 053-942807 ในวันและเวลาราชการ

หรือติดต่อบริจาคโดยตรงที่ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) สี่แยกกลางเวียงเชียงใหม่ เบอร์โทรศัพท์ 053-277855 ในวันและเวลาราชการ

การขุดค้นโบราณคดีที่สำคัญภายในศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์)

การขุดค้นทางโบราณคดีที่สำคัญ ภายในบริเวณศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) เมื่อปี พ.ศ.2562 โดยสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ตำแหน่งการขุดค้นทางโบราณคดีที่สำคัญจำนวน 2 หลุม ได้แก่ 1. บริเวณหน้าโรงครัว โบราณวัตถุสำคัญที่ค้นพบ ได้แก่ กุณฑี คอคนโฑแบบหริภุญชัย เครื่องถ้วยยุโรป เบ้าหลอมโลหะ และตะคันดินเผา 2.บริเวณหน้าอาคาร ไม่พบโบราณวัตถุที่สำคัญ

สรุปการขุดค้นทางโบราณคดีที่สำคัญภายในศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์)

จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่สำคัญ สามารถแบ่งความสำคัญของการใช้พื้นที่ และโบราณวัตถุที่พบได้ทั้งหมด จำนวน 3 สมัย ดังนี้
  • สมัยที่ 1
  • ระดับ 80-140 เซนติเมตรจากผิวดิน เป็นสมัยที่มีอายุเก่าที่สุดในพื้นที่ (พุทธศตวรรษที่ 20-24) ข้อมูลจากโบราณวัตถุที่พบแสดงให้เห็นว่าระยะเวลาแรกสุดของการใช้งานพื้นที่ มีอายุไม่เก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ 20 พบโบราณวัตถุประเภท กุณฑี คนโฑ และผางประทีป ซึ่งเป็นภาชนะที่ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาหรือพิธีในราชสำนัก พบเบ้าหลอมโลหะ (อาจบ่งบอกนัยยะสำคัญของพื้นที่)
  • สมัยที่ 2
  • ระดับ 20-100 เซนติเมตรจากผิวดิน เป็นสมัยของการก่อสร้างคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชั้นดินทับถมทางโบราณคดีแสดงให้เห็นว่า การสร้างคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) มีการถมปรับพื้นทีหนา 0.70-2.00 เมตร ดินที่นำมาถมปรับพื้นที่ น่าจะมาจากพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในเมืองเชียงใหม่ ที่เป็นพื้นที่สำคัญที่มีการใช้งานเข้มข้นและมีความเกี่ยวเนื่องกับราชวงศ์หรือชนชั้นปกครองของล้านนา เนื่องจากพบเศษเครื่องถ้วยจีนในสมัยราชวงศ์ชิง ราวพุทธศตวรรษที่ 23 มาจนถึงยุคต้นรัตนโกสินทร์ในพุทธศตวรรษที่ 25 โดยเฉพาะการพบเครื่องถ้วยญี่ปุ่นและเครื่องถ้วยยุโรป ที่กำหนดอายุได้ช่วงต้นถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 25
  • สมัยที่ 3
  • ระดับผิวดิน – 25 เซนติเมตร จากผิวดิน ซึ่งเป็นสมัยหลังสุดของการใช้งานพื้นที่ กำหนดอายุได้ในช่วงเวลาราว 100 ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน (ต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ถึงพุทธศตวรรษที่ 26) การใช้งานพื้นที่ในช่วงเวลานี้เป็นลักษณะของการใช้งานแบบพื้นที่อยู่อาศัย ชั้นดินสมัยหลังสุดนี้มีโบราณวัตถุปนกันค่อนข้างมาก ทั้งนี้พบเศษเครื่องถ้วยจีนยุคสาธารณรัฐค่อนข้างมาก รวมถึงเครื่องถ้วยญี่ปุ่นและเครื่องถ้วยยุโรป การใช้งานพื้นที่ในสมัยหลังสุดนี้น่าจะมีความต่อเนื่องมาตั้งแต่ตอนก่อสร้างคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) มาจนกระทั่งถึงช่วงต้นและกลางพุทธศตวรรษที่ 26 ดังจะเห็นได้จากการพบเหรียญกษาปณ์ 1 บาท ระบุปี พ.ศ.2505
    Flag Counter